ดร.นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต
เริ่มต้นเดือนมิถุนายน 2565 วิกฤตการณ์ใหญ่กำลังเกิดขึ้นในปากีสถาน แพร่ระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง ผู้คนอดอยาก อัตราเงินเฟ้อของประเทศสูงถึง 13.8 % ในเดือนพฤษภาคม 2565 และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเป็นลำดับ หน่วยงานที่ประเมินสถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลก คือ Moody’s ได้ลดค่าความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจของปากีสถานลงจากระดับ “มั่นคง” เป็นระดับ “ติดลบ” เพราะว่าประเทศชาติมีหนี้สินก้อนใหญ่เป็นจำนวนถึง 248.7 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐซึ่งคิดเป็นจำนวนถึง 80.2 % ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ขณะที่เงินในคลังมีเพียง 3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐไม่เพียงพอที่จะใช้หนี้ในปีนี้จะใช้จ่ายได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น นับว่าเป็นสภาวะที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปีนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอักฤษ
นายชีบาซ ชารีฟฟ์ (Shehbaz Shariff) นายกรัฐมนตรีคนใหม่เดินทางไปกู้เงินจากกองทุนระหว่างประเทศ (International Monitory Fund: IMF) ในสหรัฐปรากฏว่าถูกปฏิเสธกลับมา ด้วยเหตุผลว่า IMF ได้ให้กู้ไปแล้วถึง 22 ครั้งแล้ว รัฐบาลปากีสถานทุกรัฐบาลของปากีสถานรับปากว่าจะนำเงินมาคืนแต่ล้มเหลวทุกครั้ง ปากีสถานยังค้างหนี้ IMF อยู่ถึง 1,371 ล้านเหรียญสหรัฐ และหนี้จีนอีกเป็นจำนวนถึง 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (อันดับสองรองจากศรีลังกา)
ครั้นเดินทางไปของกู้เงินที่เมืองโดฮาในประเทศการ์ตาก็ไม่สำเร็จเช่นกัน ครั้นหันหน้าไปของกู้จีนอีกก็ถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงกลับมา ด้วยเหตุผลว่าจีนก็กำลังประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในรอบ 40 ปีและเป็นครั้งแรกที่รายได้ประชาชาติของจีนต่ำกว่าสหรัฐอเมริกา อินเดียได้เป็นประเทศคู่ค้าใหญ่ของอเมริกาแล้วในปีนี้ ไม่ใช่จีนเหมือนปีก่อน ๆ
ครั้นเดินทางไปขอกู้เงินจากซาอุดิอาระเบีย ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเจ้าชายของซาอุดิอาระเบียตั้งเงื่อนไขว่าถ้า IMF ให้กู้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียนก็จะให้กู้ โดยปากีสถานต้องยอมรับเงื่อนไขจาก IMF ปรับโครงสร้างหนี้เสียก่อนซึ่งก็เท่ากับเป็นการปฏิเสธอย่างสุภาพนั่นเอง
วิกฤตการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนนี้เป็นการซ้ำเติมวิกฤติในปากีสถาน ทำให้สถานการณ์นี้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกมาก เพราะว่ายูเครนเป็นประเทศที่ส่งข้าวสาลีราคาถูกใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลกได้ชื่อว่าเป็น “ตะกร้าขนมปังของโลก” (World Bread Basket) ภาวะสงครามทำให้ทั้งรัสเซียและยูเครนไม่อาจส่งออกข้าวสาลีได้ ทำให้เกิดภาวะทุพภิกขภัยในประเทศต่างๆ ทั้งในตะวันออกกลาง ทวีปอัฟริกา หรือแม้แต่อินโดนีเซีย (ซึ่งตามปกติ นำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนถึง 27%) อาหารแพงขึ้นหลายเท่าตัว ครั้นรัฐบาลปากีสถานจะไปของเงินกู้จากประเทศเพื่อนบ้านคืออินเดียก็ไม่เหมาะสมเสียอีก เพราะเป็นศัตรูเคยรบพุ่งกันมาหลายครั้ง
เหตุการณ์นั้นแย่ลงไปอีกมาก เมื่อนายอิมราน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2565 นี้ ได้ ออกโรงเดินสายปลุกม็อบ ระดมประชาชนลงถนนนับล้านคน พร้อมยื่นคำขาดกับรัฐบาล ให้ยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ และให้รัฐบาลทำใน 6 วันและประกาศทำสงครามศักดิ์สิทธิหรือจีฮาด (Jihad)กับรัฐบาลชุดนี้ เขาปลุกระดมมวลชนออกมาลงถนนเดินขบวนใน 7 เมืองใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะกรุงอิสลามาบัดเมืองหลวงของประเทศ ประชาชนที่เชื่อเขามีความโกรธแค้นรัฐบาลชุดนี้อย่างมากลงมือทำลายข้าวของสาธารณะ ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงขนาดต้องใช้ก๊าซน้ำตา จนถึงขนาดที่ทางการต้องสั่งให้กองทัพออกมารักษาความสงบ
บรรยากาศเหมือนสงครามกลางเมือง ชายผู้ประท้วงคนหนึ่งเสียชีวิตจากการยิงของทหาร ซึ่งนายอิมราน ข่านเรียกเขาว่า “วีรบุรุษผู้ยอมสละชีพ” (Martyr) รัฐสินธ์ต้องประกาศเคอร์ฟิว ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงยาวนานถึง 20 วันสถานการณ์จึงสงบลง แต่ทางรัฐสภาไม่นำพาต่อคำขาดของอิมราน ข่าน สถานการณ์ในประเทศวิกฤติขึ้นทุกขณะ เกิดการปะทะกันระหว่างม็อบที่สนับสนุนนายอิมราน ข่านกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งยิ่งก๊าซน้ำตาและกระสุนยางเพื่อเข้าสลายม็อบ สถานการณ์ในประเทศวุ่นวายหนักขึ้นทุกวันอุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้นทวีคูณทุกขณะ
นายอิมราน ข่าน ยังออกมาขู่อีกว่าหากไม่มีการเลือกตั้ง ปากีสถานจะล้มละลาย ประเทศจะเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง ผู้คนจะล้มตายเป็นจำนวนมาก กองทัพทั้งหมดจะถูกย่อยสลาย ปากีสถานจะแตกออกเป็น 3 ประเทศเหมือนประเทศในคาบสมุทรบัลข่าน (Balkhanisation) และจะสูญเสียอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศให้แก่ผู้ก่อการร้าย
ประเด็นสุดท้ายนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปากีสถานเป็นที่รวมของมุสลิมก่อการร้ายหลายกลุ่มแต่ละกลุ่มพร้อมที่จะก่อความวุ่นวายในประเทศ จนขนาดบุกปล้นอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศไปก็เป็นได้ ขณะนี้กองทัพปากีสถานมีระเบิดนิวเคลียร์อยู่ประมาณ 100-200 ลูก ซึ่งอยู่ในลักษณะพร้อมติดเป็นหัวรบเพื่อยิงจากจรวดและเป็นระเบิดที่พร้อมทิ้งจากเครื่องบินทิ้งระเบิด การที่กลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงจะเข้าปล้นหรือนายทหารปากีสถานระดับสูงบางคน จะลักลอบขายอาวุธเหล่านี้จึงมีความเป็นไปได้มาก เมื่อเศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ และความระส่ำระสายในประเทศเพิ่มขึ้น
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปากีสถานเป็นที่รวมของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงหลายกลุ่ม เช่น ตาลิบัน (Taliban) ไชซ์เอโมหัมมัด (Jaish-e-Mohammed: JEM) ขุทมุล อิสลาม (Khudamul Islam) เตห์ริก อุลฟูร์กาน (Tehrik ul-Furqaan) กลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้รัฐบาลปากีสถานประกาศให้เป็นองค์กรผิดกฎหมาย และอยู่ในทำเนียบผู้ก่อการร้ายที่ปรากฎในเว็บไซต์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ระบุกลุ่มก่อการร้ายในปากีสถานถึง 12 กลุ่มด้วยกัน แต่ละกลุ่มมีศักยภาพในการก่อการร้ายในระดับสากลอีกด้วย
อย่างไรก็ตามปากีสถานปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มก่อการร้ายนี้ไม่มีอิทธิพลในประเทศของตน กิจกรรมทางสังคมในปากีสถานและประเทศเพื่อนบ้านเช่น อินเดียและอัฟกานิสถานยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเกิดเหตุความวุ่นวายหรือสงครามกลางเมืองเกิดขึ้น มีโอกาสสูงอย่างยิ่งที่กลุ่มหัวรุนแรงเหล่านี้จะฉกฉวยโอกาสเข้ายึดครองอาวุธนิวเคลียร์เพื่อสร้างความหายนะกับศัตรูของตน
ในการปราศรัยใหญ่ของนายอิมราน ข่าน ได้บอกว่าปากีสถานกำลังเข้าสู่ “สงครามกลางเมือง” และ ทางออกของประเทศมีอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ให้เร็วที่สุด แต่ฝ่ายนายกรัฐมนตรีนายชีบาซ ชารีฟฟ์ ไม่ยอมทำตามคำขู่และเงื่อนไขของนายอิมราน ข่าน เพราะรู้ชัดว่าหากมีการเลือกตั้งเมื่อใด เขาจะไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก และพรรคการเมืองของเขาต้องพ่ายแพ้แก่พรรคของ นายอิมราน ข่านอย่างแน่นอน ในสัปดาห์ที่ผ่านมานายชีบาซ ชารีฟฟ์ ได้สั่งให้มีการขึ้นราคาน้ำมันในประเทศถึง 40% อย่างไม่มีปีมีขลุ่ย ทำให้ประชาชนไม่พอใจกันทั้งประเทศ ออกมาเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลอย่างล้นหลาม
เมื่อนายอิมราน ข่าน ยื่นคำขาดให้ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งทั่วไปใน 6 วันเช่นเช่นนี้ นายชีบาซ ชารีฟฟ์ ไปประกาศต่อรัฐสภาว่า นายอิมราน ข่าน ไม่อยู่ในสถานะใด ๆ ที่จะเรียกร้องให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ คณะรัฐมนตรีจึงได้ประชุมกันอย่างเร่งด่วน แล้วกล่าวหาว่านายอิมราน ข่าน และสมาชิกพรรคซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลของเขาอีก 2 คนเป็นกบฏต่อแผ่นดิน (Treason) ตามมาตราที่ 124A ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต โดยมีหลักฐานตามคำปราศรัยของนายอิมราน ข่าน ในวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมาเป็นคำปราศรัยที่ทำให้ประเทศชาติเกิดการแตกแยกจะแบ่งปากีสถานออกเป็น 3 ประเทศและขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ถึงขณะนี้ทั้งสามคนมิได้ถูกทางการจับกุมดำเนินคดีแต่ประการใดไม่
กลยุทธทางการเมืองรัฐบาลปากีสถานโดยการตั้งของหากบฏนี้เคยใช้ได้ผลมาแล้ว 3 ครั้ง จนทำให้นักการเมืองที่มีอำนาจต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ แต่ครั้งนี้กลับไม่เป็นผล ตรงกันข้ามประชาชนกลับออกมาลงถนนมากยิ่งกว่าเดิม และนายอิมราน ข่าน ได้รับความเห็นใจและการสนับสนุนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม นายอิมราน ข่าน ได้บอกกับประชาชนว่าสมัยที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นรัฐสามารถเก็บภาษีได้มากเกินเป้า และประเทศชาติมีเศรษฐกิจที่ดีมากไม่ตกต่ำเหมือนในรัฐบาลชุดนี้ที่เต็มไปด้วยความอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพ
อันที่จริงนายอิมราน ข่าน ไม่ใช่คนแรกที่พยากรณ์ว่าปากีสถานจะแยกออกเป็น 3 ประเทศ หลายสิบปีมาแล้วนักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองของปากีสถาน ได้อธิบายหลายสิบปีมาแล้วไว้ว่า หากจะให้ดินแดนนี้สงบจำเป็นต้องแบ่งแยกปากีสถานเป็น 3 ประเทศตามวัฒนธรรมและเชื้อชาติในท้องถิ่นของตน มิฉะนั้นประเทศนี้ก็จะวุ่นวายทางการเมืองและศาสนาไม่รู้จบ
เมื่อกลยุทธในการเล่นงานนายอิมราน ข่านและพวกไม่สำเร็จ การแก้ไขวิกฤติทางเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่เร่งด่วนมากกว่า สัปดาห์ที่ผ่านมานายชีบาซ ชารีฟฟ์ ได้พาคณะรัฐมนตรีเกือบทั้งหมดไปตุรกี (เพิ่งเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นตูรเกีย–Turkey) เพื่อให้ช่วยเหลือทางด้านการให้กู้ยืนเงินแก่ปากีสถานเป็นอันดับแรก และนักลงทุนจากตูรเกียจะมีสิทธิพิเศษมากมายเมื่อเข้าไปลงทุนในปากีสถาน แต่วัตถุประสงค์นี้ไม่เป็นผลเนื่องจากตูรเกียเองมีเศรษฐกิจที่ตกต่ำเช่นกัน โดยมีสภาวะเงินเฟ้อถึง 70% และทางรัฐบาลก็ยังแก้ไขไม่ตก แต่ในการเยือนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์แบบแฝงคือ ต้องการให้ตูรเกียเป็นกาวใจให้เพิ่มปริมาณการค้ากับอินเดีย โดยนายชีบาซ ชารีฟฟ์ ได้แถลงข่าวว่าต้องการมี “การค้าที่มีสุขภาพดี” (Healthy Trade) กับอินเดีย และเชื่อว่าการค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองจะส่งผลดีกับทั้งสองประเทศ
ในปีที่ผ่านมาการค้าขายระหว่างอินเดียกับปากีสถานนั้นมีจำนวน 514 ล้านเหรียญสหรัฐ และธนาคารโลก (World Bank) ได้ประเมินว่าการค้าระหว่างปากีสถานกับอินเดียสามารถเติบโตได้ถึง 37 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปัญหาสำคัญระหว่างสองประเทศคืออินเดียไม่พอใจกับปัญหาความขัดแย้งในแคว้นชมูและแคชเมียร์ ซึ่งอินเดียเชื่อว่ารัฐบาลปากีสถานให้การสนับสนุนทางอาวุธและเงินแก่ผู้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนในทั้งสองแคว้นนี้มาตลอด และปากีสถานไม่เคยรักษาคำพูดกับอินเดียเลย
เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง รัฐบาลของนายชีบาซ ชารีฟฟ์ ยังได้ติดต่อไปยังรัฐบาลสหรัฐเพื่อขออนุญาตซื้อน้ำมันและข้าวสาลีจากรัสเซีย โดยไม่มีผลของการคว่ำบาตรในครั้งนี้ด้วย และรัฐบาลของนายโจ ไบเดน ยังไม่ให้คำตอบ
ขณะนี้นายชีบาซ ชารีฟฟ์ จึงอยู่ในสภาวะอับจนทางการเมือง เขาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำไม่ได้เลย การกู้เงินมาช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่สำเร็จ ไม่ว่าจาก IMF จีน การ์ตา หรือ ซาอุดิอาระเบีย เงินคงคลังก็ลดน้อยถอยลงทุกวันกำลังจะหมดคลัง ในทางการเมืองเขาก็ถูกรุกหนัก การลุกฮือครั้งใหญ่เกิดขึ้นแล้วโดยอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งออกมาก่อม็อบ ปลุกระดมมวลชนนับล้านให้ลงถนนต่อต้านรัฐบาล กระบวนการทางการเมืองและเศรษฐกิจล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ประเทศกำลังจะเป็นรัฐที่ล้มเหลว (Failed State)
เขาจะตัดสินใจอย่างไรดี? อะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับปากีสถาน ซึ่งขณะนี้ได้กลายเป็น “ระเบิดเวลา” ลูกใหญ่รอวันปะทุ ประเทศกำลังลื่นไถลเข้าสู่สงครามเย็นดังที่อิมราน ข่าน ได้กล่าวไว้ มีโอกาสที่จะเป็นไปได้สูงมาก ถ้าเช่นนั้นปากีสถานกำลังจะล่มสลายแตกออกเป็น 3 ประเทศภายหลังสงครามกลางเมืองกระนั้นหรือ?
นายชีบาซ ชารีฟฟ์ จะยอมยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ตามคำขู่ของอิมราน ข่าน ก็จะทำให้เขาเสียหน้า และถูกตราหน้าตลอดไปว่าเป็นผู้พ่ายแพ้ แต่นั่นอาจเป็นทางเดียวที่จะประคองประเทศชาติต่อไปได้ เขาต้องตัดสินใจครั้งสำคัญบนทางสองแพร่ ที่จะเลือกระหว่าง “เกียรติและศักดิ์ศรีของตนเองกับความเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติ”
กองทัพเป็นอีกปัจจัยหนึ่งและเป็นตัวแปรที่สำคัญของการเมืองในปากีสถานมาตลอด เท่าที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีที่กองทัพไม่สนับสนุนย่อมขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้ไม่ได้ หรืออยู่ไม่ได้นาน ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีปากีสถานคนใดเคยอยู่ครบวาระเลยแม้แต่คนเดียว และปากีสถานเคยเกิดรัฐประหารมาแล้ว 4 ครั้งในปีพ.ศ. 2501 พ.ศ. 2510 และ พ.ศ.2542 และยังมีรัฐประหารที่ยึดอำนาจไม่สำเร็จอีก 3 ครั้งในปีพ.ศ. 2494 พ.ศ.2523 และพ.ศ. 2538 ทางกองทัพได้มีบทบาทสนับสนุนนายอิมราน ข่าน ตลอดมาเพื่อให้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างออกหน้าออกตา จนทำให้พรรคปากีสถาน เตห์เรกอีอินซาฟ (Pakistan Tehreeh-e-Insaf) ของเขากลาย เป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุด และทำให้นายอิมราน ข่าน ได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2551
แต่ในขณะนี้เมื่อนายอิมราน ข่าน ไม่ได้รับคะแนนไว้วางใจเพียงพอจากรัฐสภา เขาได้ประณามว่ากองทัพสนับสนุนสหรัฐอเมริกา ซึ่งพยายามให้เขาหลุดจากอำนาจ ทางกองทัพจึงมีท่าทีที่เย็นชาต่อนายอิมราน ข่าน และเฝ้ามองสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและวิกฤตการณ์นี้อย่างเงียบ ๆ
แต่ผู้นำกองทัพปากีสถานเองก็ต้องคิดหนักว่าหากปฏิวัติขึ้นมาแล้ว จะแก้ไขปัญหาหนี้สินขอประเทศนี้อย่างไร? รัฐประหารจึงไม่ใช่ทางออกสำหรับวิกฤตินี้!!!
ความจริงก็คือ “ยังไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” สำหรับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศในครั้งนี้!!