เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2022 เวลา 09.00-12.30 น
ที่วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับหลายมหาวิทยาลัยได้จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติขึ้น ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ในหัวข้อ “From disruptive to Post Covid-19 world : New landscapes and Sustainable Development for Thailand” โดยเชิญองค์ปาฐกถา 2 คน
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Thailand in a disruptive world” กล่าวว่าโควิดส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกิจกรรมหลายอย่างเปลี่ยนมาเป็นระบบออนไลน์มากขึ้น แต่ประเทศไทยจะอยู่ในโลกของความปั่นป่วนนี้ได้อย่างไร? การพัฒนาประเทศต่อจากนี้ไป ควรจะคำนึงถึง 3 มิตินี้คือ 1) ภูมิอากาศป่วน 2) ภูมิรัฐศาสตร์ป่วน 3) เทคโนโลยีป่วน ปัจจุบันอุณหภูมิโลกสูงขึ้นกว่าปกติทำให้เกิดปัญหาภัยธรรมชาติ คือ ไฟป่า น้ำท่วม พายุ ความแห้งแล้ง พายุฝุ่นในหลายๆประเทศตามมามากมาย โลกที่ร้อนเกินไปอาจทำให้ประเทศไทยจมทะเลก็ได้ ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปนี้จะส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การเจรจาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมีการขัดแย้งและโต้แย้งกันของประเทศต่างๆทั้งประเทศที่พัฒนาและและประเทศกำลังพัฒนา ภูมิอากาศจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้วย เพราะจะทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆบางเทคโนโลยีจะช่วยให้ปล่อยคาร์บอนน้อยลง กิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนของมนุษย์ 5 อย่าง คือ 1.ผลิตและก่อสร้าง 2.ผลิตไฟฟ้า 3. เกษตร 4. การเดินทาง 5. การปรับอุณหภูมิ การแก้ปัญหา คือ ทุกประเทศต้องลดการปล่อยคาร์บอน อีกเรื่อง คือ คริปโทเคอร์เรนซี หรือ บิตคอยน์แม้ด้านหนึ่งจะเป็นโอกาสของหลายคน แต่อีกด้านที่น่ากังวลกลายเป็นตัวเร่งโลกให้ร้อนขึ้น คือ เป็นการทำเหมืองที่ต้องใช้กำลังไฟฟ้ามหาศาลในการขุดเหรียญบิทคอยน์นั้นในปัจจุบันทั้งโลกใช้ไฟฟ้าเท่ากับการใช้ไฟฟ้าในประเทศมาเลเซียทั้งประเทศ โดยมีแนวโน้มที่จะมีการทำเหมืองบิตคอยน์เพิ่มสูงขึ้นและการใช้ไฟห้าก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่การปล่อยคาร์บอนและภาวะโลกร้อนด้วย
ศ.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Post Covid-19 : New landscapes for Thailand” อาจารย์ธีรยุทธ กล่าวว่าคลื่นสึนามิการเปลี่ยนแปลง 3 ลูกกระทบประเทศไทย ก่อนโควิด 19 โลกเผชิญ 2 คลื่นการเปลี่ยนแปลงใหญ่อยู่แล้ว คือ การเปลี่ยนแปลงจาก disruptive เทคโนโลยี และผลสืบเนื่องทางเศรษฐกิจจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 2008
สำหรับประเทศไทยมีอีกหนึ่งวิกฤติมาเพิ่มเติม คือ
1. วิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่ความเสื่อมความชอบธรรมของภาคสังคมการเมืองประชาธิปไตยและการปกครอง และยังถูกซ้ำเติมจากปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจาก COVID ด้วย
2. Disruption Technology เช่น AI, Big Data, IoT, Internet ส่งผลให้เกิดการยุบเปลี่ยนทั้งภาคการผลิต การบริการ การเงิน การธนาคาร การแพทย์ การศึกษา ระบบราชการ การเมือง และทุกภาคส่วน ทั้งสร้างสิ่งใหม่และขยายปัญหาเดิมของแต่ละประเทศ
3. ความเสื่อมของภาคสาธารณะและการตายของสังคมไทย
คำว่าสังคม (society, social) เกิดขึ้นพร้อมกับชนชั้นกลางและการเมืองประชาธิปไตย สังคมมีความหมายถึงการพบปะ เข้าสังคม รวมกลุ่มเพื่อถกเถียงหามติความเห็นที่ถูกต้อง การติดต่อพูดคุยของสังคมนี้มีกติกามารยาทที่ละเอียดอ่อน ต้องมีความซื่อตรง เชื่อถือในข่าวสาร ทัศนะ ที่ให้แก่กัน อาจมีความเห็นต่าง ความขัดแย้ง แต่ส่วนใหญ่หาข้อสรุปหรือสงวนความคิดของตนได้ ภาคสาธารณะก็หมายถึงมิติทางวัตถุ อำนาจ และผลประโยชน์ของส่วนรวมทั้งหมด โดยที่มีตัวแทนทั้งในลักษณะบุคคลและสถาบัน คือ สื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สถาบันวิชาการ มหาวิทยาลัย ครู อาจารย์ ปัญญาชน ฯลฯ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีดิจิตอลก็สร้างขีดความสามารถที่ทำให้เกิดการสื่อสารของทุกคนได้ เกิดเป็น ‘net media’ (ไม่ใช่ social media เพราะเป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งเน้นการแสดงออกตัวตน (ไม่ใช่ทัศนะหรือความรู้ที่ถูกกลั่นกรองตรวจสอบยาวนาน) ความฉับไว ความต่าง แปลกใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มนำไปสู่การดูถูก ด้อยค่า ด่าทอ ใช้คำหยาบและความเกลียดชังด้วยอคติต่าง ๆ)
สังคมไม่ได้หายหรือตายไปเพียงเพราะคนไม่ได้ออกมาพบปะกัน แต่ยังตายเพราะคุณค่า ค่านิยม ขนบประเพณี ซึ่งสร้างความเป็นสังคมได้ล้มหายตายจากไปด้วย เราจะพบว่าค่านิยม เกียรติ ศักดิ์ศรี ความเชื่อถือ (trust) ความซื่อตรงมีคุณธรรม integrity ในหมู่มิตรสหาย ในทางวิชาการและวิชาชีพ ได้เสื่อมลงไปเรื่อย ๆ และแทบไม่มีการพูดถึงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น net idol จะไม่เน้นที่เกียรติ ศักดิ์ศรี คุณวุฒิ ความสามารถทางด้านต่าง ๆ แต่จะอยู่ที่ความสามารถในการสร้างความแปลกใหม่ ความน่าสนใจ และการเข้าถึงสถานการณ์ เหตุการณ์ event ต่าง ๆ ได้ จนเป็นที่ชื่นชอบของแวดวง
ภาคสาธารณะ (public sphere) จะเหลือเพียงมิติที่เป็นการบริการของภาครัฐ จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นต่อเมื่อกระทบต่อผู้คนกลุ่มต่าง ๆ เท่านั้น
การตายหรือเสื่อมของภาคสังคมและสาธารณะจะส่งผลอย่างมากต่อการส่งเสริม สถาปนา หรือถ่วงดุลการเมืองประชาธิปไตย ส่วน Net Media และอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคใหม่นี้จะทำหน้าที่นี้ได้หรือไม่ จะเป็นคำถามสำคัญต่อไป
4. ความเสื่อมของการปกครองไทย
ปัญหาที่ลึกซึ้งไปกว่าคำว่าเสถียรภาพของรัฐหรือรัฐบาลก็คือคำว่า “การปกครอง ‘ได้’ หรือ ‘ไม่ได้’” (governmentality) รัฐปกครองได้ไม่ได้หมายถึงการมีอำนาจในด้านต่าง ๆ แต่หมายถึงการได้ใจของประชาชนด้วย การได้ใจหมายถึงรัฐต้องทำหน้าที่ได้ดี มีที่มา วัตรปฏิบัติที่ชอบธรรม ให้ความยุติธรรมและเท่าเทียมกันกับประชาชน
อาจารย์ธีรยุทธ กล่าวต่อว่า COVID เป็นแรงกระทบใหญ่มากจนเราไม่อาจแน่ใจว่าจะเกิด New Normal ใหม่กับสังคมกลุ่มไหนหรือไม่ จะเกิดความพึงใจเป็นพิเศษ (preference) โดยไม่มีเหตุผล การทบทวนตัวเองประเมินและคาดการณ์ ความรู้ ประสบการณ์เก่ากับ Normal ใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และเลือกทางเดินใหม่ ๆ ที่ยืดหยุ่นปลอดภัยและได้ผลดีทั้งระยะยาวและระยะสั้นได้