“สิน” เป็นนักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และได้ลงวิชาเรียนการวิจัยทางสังคมศาสตร์แบบใหม่ งานที่สินได้รับโจทย์จากครู คือการหาหัวข้อวิจัยที่ตนเองสนใจ และแบบฝึกหัดของการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) คือจะต้องไปสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวกับหัวข้อที่ตนเองสนใจ มานำเสนอในห้องเรียน ซึ่งสินสนใจเรื่อง “การรับมือกับค่าครองชีพในปัจจุบันของผู้มีรายได้น้อย”
สินอุตสาหะไปค้นคว้ามาได้ว่า ไทยอยู่ในอันดับ 2 ของประเทศในอาเซียนที่มีค่าครองชีพสูงรองจากสิงคโปร์ ในขณะที่ ราคาเนื้อไก่ในสิงคโปร์พุ่งพรวด 218 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ไทยยังซื้อได้ในราคา 67.50 บาท ไข่ไก่ บรูไนขายใบละ 6 บาท แต่ในไทยเบอร์เล็กสุดราคา 3.35 บาท น้ำตาลทราย พี่อินโดนีเซียพุ่งขึ้นไป 36 บาท พี่ไทยยังอยู่ที่ 22 บาท ปลากระป๋องอาหารยามยาก บรูไน 39 บาท ไทย 18.50 ข้าวสารไม่น่าเชื่อเมียนมาครองอันดับหนึ่ง 37.92 บาทในไทยยังขายได้ 29-30 บาท เนื้อหมูกัมพูชาแพงสุด 140 บาท ขณะที่ไทยไทยยังซื้อได้ 120-125 บาท
สถิติที่สินยกมาก็แสดงว่าในประเทศอาเซียนด้วยกัน ไทยยังมีค่าครองชีพที่พอจับต้องได้ แต่พอสินไปสัมภาษณ์คนที่มีรายได้น้อย คนหนึ่งทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย.ที่สินเรียกว่าลุงยาม อายุ 64 ปี อีกสองคนเป็นคนงานรับจ้างที่มีรายได้วันละ 300 บาท วันไหนป่วยมาทำงานไม่ได้ก็ไม่มีรายได้ 3 คนนี้จึงมีรายได้ต่อเดือนตกอยู่ประมาณ 10,000-12,000 บาทเท่านั้น แต่เงินจำนวนนี้ต้องเลี้ยงคนทั้งครอบครัว
สินบอกว่าระยะเวลานานที่สัมภาษณ์พูดคุยกับลุงยาม ผู้ซึ่งสินให้นิยามว่าได้เปิดโลกใบใหม่ให้กับเขา สินมาจากตระกูลของคนทำธุรกิจที่มีรายได้ไม่ลำบากเดือดร้อน สินจึงไม่ค่อยมีประสบการณ์เกี่ยวกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตของคนที่มีรายได้น้อยที่ต้องต่อสู้กับชีวิตในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพ ซึ่งลุงยามบอกว่าอะไรๆก็แพงไปเสียทั้งหมด บ้านเดิมของลุงยามอยู่โคราช แต่ที่นั่นไม่มีที่ดิน ไม่มีงาน ไม่มีใครจ้างให้ทำอะไร ลุงยามจากโคราชมากว่า 10 ปียังไม่มีเวลา ไม่มีเงินที่จะกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด การดำรงชีวิตอยู่ในเมืองที่มีค่าครองชีพที่สูงทำให้ลุงป่วยไม่ได้ ต้องแข็งใจลุกขึ้นมาทำงานทุกวัน วันไหนไม่ทำก็ขาดรายได้ วิธีเดียวที่ลุงยามทำได้ในการรับมือกับค่าครองชีพที่สูง ทั้งค่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารคือการประหยัดไม่ฟุ่มเฟือย แต่ลุงยามก็มีสภาพชักหน้าไม่ถึงหลังในแต่ละเดือน
สินพยายามเอาความรู้ที่มีไปบอกลุงยามถึงโอกาสที่จะได้รับจากรัฐในฐานะคนที่มีรายได้น้อย เช่นโครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ แต่สิ่งที่ทำให้สินอึ้งก็คือ ลุงยามบอกว่าโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่เป็นโทรศัพท์รุ่นเก่า ที่ใช้เพียงโทรเข้าโทรออกเท่านั้น และไม่มีใครสนใจที่จะมาสอนว่าลุงยามจะสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการสวัสดิการของรัฐผ่านมือถือได้อย่างไร สินบอกในการนำเสนองานครั้งนี้ว่า ความรู้ในห้องเรียนสอนให้เขาค้นคว้าสถิติที่น่าสนใจจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งให้ความรู้อย่างกว้างขวางมากมาย แม้แต่สถิติง่ายๆทางเศรษฐศาสตร์ สินก็ค้นคว้าได้จากมือถือ แต่ในชีวิตที่เป็นจริงของลุงยาม กลับเป็นโลกที่แคบเสียนี่กระไร สินซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ นึกไม่ออกเลยว่าจะอยู่ได้ยังไงถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ต สินเริ่มรู้สึกว่า โลกอันยากลำบากของผู้มีรายได้น้อยกับค่าครองชีพทางสถิติไม่ได้ไปด้วยกัน สินคิดต่อไปว่า เขาจะเชื่อมโยงโลกของความเป็นจริงในชีวิตของลุงยาม กับความรู้จากโลกของตำรานี้ได้อย่างไร อะไรเป็นช่องว่างที่เขาต้องค้นพบ สุดท้ายของการนำเสนอ สินบอกว่า เขาไม่รู้เหมือนกันว่าผู้นำต้องทำอย่างไร แต่กับความรู้สึกของเขาตอนนี้ ผู้นำน่าจะเป็นคนที่ช่วยทำให้คนอย่างลุงยามมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ครูประทับใจกับการนำเสนอของสิน โดยเฉพาะประโยคสุดท้ายที่สินแสดงความรู้สึกในฐานะนักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม แม้ในขณะนี้สินอาจจะยังทำอะไรไม่ได้ แต่โจทย์คำถามนี้คงเข้าไปก้องอยู่ในความรู้สึกและจิตใจของสิน ครูเชื่อว่า สักวันหนึ่ง… สินจะพบกับคำตอบ
by ผศ.ดร.ฉัตรวรัญช์ องคสิงห / วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต / 15.04.2564